มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548 เหตุผล โดยที่มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติให้สถานศึกษาของรัฐที่ดำเนินการศึกษารับปริญญาเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินกิจการโดยอิสระสามารถพัฒนาระบบบริหาร และการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัวและมีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ดังนั้นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง ขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม โดยให้ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทาง ระดับปริญญาเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งได้มีเครือข่ายดำเนินงานร่วมกันในหลายกิจกรรม อาทิ การจัดการเรียนการสอน การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริหารจัดการ การประกันคุณภาพ รวมถึงการวิจัยและบริการวิชาการ โดยเฉพาะการจัดประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และหมุนเวียนความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าภาพ ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2556 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 8 แห่ง รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 5 (5th RMUTNC) และการประชุมวิชาการนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 4 (4th RMUTIC) ประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ คือ 1) การบรรยายพิเศษ 2) การประชุมวิชาการระดับชาติ/นานาชาติ 3) การจัดนิทรรศการวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม 4) การประกวดผลงานการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการ 5) การอบรมเชิงปฏิบัติการ และ 6) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์